ต้นมะหาด จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ ที่มีความสูงของต้นประมาณ 15-20 เมตร และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง ทรงพุ่มกลมหรือแผ่กว้าง เปลือกลำต้นเป็นสีดำ สีเทาแกมน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอมแดงถึงน้ำตาลเข้ม ต้นแก่ผิวเปลือกจะค่อนข้างหยาบ ขรุขระและแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ บริเวณเปลือกของลำต้นมักมีรอยแตกและมียางไหลซึมออกมา แห้งติด ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือวิธีการตอนกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกประเภท (แม้ในช่วงที่มีฝนตกน้อย) ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นทั่วไปในที่กึ่งโล่งแจ้งตามป่าดงดิบ ปาเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าคืนสภาพ ป่าหินปูน ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-1,800 เมตร ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และทางภาคใต้ของประเทศไทย
ใบมะหาด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบมนหรือแหลมเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือเว้ามนหรือแหลมกว้าง และอาจเบี้ยวไม่สมมาตรกัน ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อยหรือมีซี่ฟันเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ผิวใบด้านบนมีขนหยาบเล็กน้อย ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอมเทา มีขนหยาบสีเหลืองเล็กน้อย ใบอ่อนมีขนแต่พอแก่ขึ้น ขนเหล่านั้นจะหลุดไปทำให้ใบเรียบเกลี้ยง ใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม เหนียวคล้ายหนัง มีเส้นใบข้างประมาณ 8-20 คู่ จรดกันที่ขอบใบ เส้นใบย่อยเห็นชัดเจนที่ด้านท้องของใบ ก้านใบยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีขนแข็งสีเหลืองอยู่หนาแน่น และมีหูใบขนาดเล็กบาง รูปหอกหลุดร่วงง่ายและมีขนปกคลุมหนาแน่น ขนาดประมาณ 4-5 เซนติเมตร ส่วนกิ่งก้านค่อนข้างอ่อน อ้วน และหนาประมาณ 3-6 มิลลิเมตร
ดอกมะหาด ออกดอกเป็นช่อกระจุกแน่นกลมสีเหลืองหม่นถึงสีชมพูอ่อน โดยจะออกตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน แต่อยู่คนละช่อ ช่อดอกเพศผู้กลม ช่อยาวประมาณ 0.8-2 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อเดี่ยวตามซอกหรือช่วงล่างของกิ่งก้าน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด กลีบเลี้ยงมี 2 พู ลึก มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ส่วนช่อดอกเพศเมียเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนานสีเหลืองอ่อน ออกตามกลีบช่วงบน มีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.2-2.3 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกหยัก ก้านช่อยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน
ผลมะหาด ผลเป็นสดและมีเนื้อ เป็นผลรวมสีเหลือง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมค่อนข้างบิดเบี้ยวเป็นตะปุ่มตะป่ำ ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร ก้านผลยาวประมาณ 1.2-3.8 เซนติเมตร ผิวผลขรุขระและมีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ ผลอ่อนเป็นสีเขียว พอสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนถึงส้ม เมื่อแก่เป็นสีเหลืองปนน้ำตาล เนื้อผลนุ่มเป็นสีเหลืองถึงสีชมพู ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดมะหาดเป็นรูปขอบขนานหรือเกือบกลม เมล็ดเป็นสีน้ำตาลทา ขนาดประมาณ 1.2 เซนติเมตร โดยจะติผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม
ผงปวกหาด คือ การนำเอาเนื้อไม้หรือแก่นไม้มะหาดที่มีอายุ 5 ขึ้นไป มาสับแล้วนำไปเคี่ยวต้มเอากากออก แล้วเอาผ้ากรองเอาน้ำออก ทำให้แห้งจะได้ผงสีขาวนวลจับกันเป็นก้อน (ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้นำมาต้มเคี่ยวกับน้ำจนเกิดฟอง แล้วช้อนฟองที่ได้รวมกันทำให้แห้งก็จะได้ผงสีขาวนวลจับกันเป็นก้อน) แล้วนำไปย่างไฟให้เหลือง หลังจากนั้นนำมาบดให้เป็นผง ผงที่ได้เรียกว่า “ผงปวกหาด” มีรสร้อนเมา วิธีการใช้ให้นำเอาผงมาชงกับน้ำเย็นรับประทาน
ประโยชน์และสรรพคุณ
- แก่นมะหาดมีรสร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้กระษัย ละลายเลือด กระจายโลหิต (แก่น,ผงปวกหาด)
- แก่นมะหาดมีสรรพคุณช่วยแก้โรคกระษัยไตพิการ กระษัยเสียด กระษัยดาน กระษัยกร่อน กระษัยลมพานไส้ กระษัยทำให้ท้องผูก (แก่น)
- ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร (แก่น,ผงปวกหาด)
- ช่วยแก่ตานขโมย (แก่นเนื้อไม้)
- แก่นมะหาดมีสรรพคุณเป็นยาแก้ดวงจิตขุ่นมัว ระส่ำระสาย แก้อาการนอนไม่หลับ (แก่น)
- แก่นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลม (แก่น,แก่นเนื้อไม้,ผงปวกหาด)
- เปลือกต้นสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ หรือจะใช้รากสดหรือแห้ง นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ก็ได้ (เปลือกต้น,ราก)[1],[4],[5]แก่นมีรสร้อน สรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ต่าง ๆ (แก่น)
- รากมะหาดสดหรือแห้งนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้พิษร้อนใน (ราก)
- ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (แก่น,ผงปวกหาด)
- ช่วยแก้เสมหะ (แก่น)
- ช่วยแก้หอบหืด (แก่น)
- ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (แก่น,ผงปวกหาด)ส่วนแก่นเนื้อไม้มีสรรพคุณแก้จุกแน่น แก้ท้องขึ้นอดเฟ้อ ช่วยขับลม ผายลม (แก่นเนื้อไม้)
- ช่วยแก้ฝีในท้อง (แก่น,ผงปวกหาด)
- ช่วยแก้ท้องโรพุงโต แก้จุกผามม้ามย้อย (แก่น)
- แก่นเนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาระบาย แก้ท้องผูกไม่ถ่าย (แก่นเนื้อไม้)ส่วนยางและเมล็ดก็มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายเช่นกัน (ยาง,เมล็ด)
- เปลือกต้นสดนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาช่วยขับพยาธิ ถ่ายพยาธิ พยาธิตัวตืด หรือจะใช้รากสดหรือแห้ง นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาขับพยาธิก็ได้ (เปลือกต้น,แก่น,ราก)(แก่นเนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือนตัวกลม พยาธิเส้นด้าย พยาธิตัวตืด พยาธิตัวแบน)
- ตำรายาไทยจะใช้ผงปวกหาดเป็นยาถ่ายพยาธิ พยาธิเส้นด้าย พยาธิไส้เดือน และพยาธิตัวตืด โดยใช้ผงปวกหาดในขนาด 3-5 กรัม นำมาละลายหรือผสมกับน้ำสุกที่เย็นแล้วดื่มตอนเช้ามืดก่อนอาหารเช่า (หรือจะผสมน้ำมะนาวลงไปด้วยก็ได้) หลังจากนั้นประมาณ 2 ชั่ว ให้กินยาถ่าย (ดีเกลือ) ก็จะช่วยขับพยาธิออกมา วิธีนี้ใช้กับเด็กได้ดี แต่เวลาปรุงยาควรใส่ลูกกระวานหรือลูกจันทน์เทศด้วยเพื่อแก้อาการไซร้ท้อง สำหรับเด็กให้ใช้ผงปวกหาดเพียงครึ่งช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ รับประทานเพียงครั้งเดียว (ผงปวกหาด)
- ช่วยขับปัสสาวะกะปริดกะปรอย (แก่น,ผงปวกหาด)
- ช่วยขับโลหิต (แก่น,แก่นเนื้อไม้,ผงปวกหาด)
- ใบมะหาดมีสรรพคุณช่วยแก้โรคบวมน้ำ (ใบ)
- ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (แก่น)
- เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน (เปลือกต้น)
- ผงปวกหาด ใช้ละลายน้ำทาแก้ผื่นคัน แก้เคือง (ผงปวกหาด)ส่วนแก่นมีสรรพคุณช่วยแก้ประดวงทุกชนิด (แก่น)
- ช่วยแก้อาการปวด (ผงปวกหาด)
- แก่นมะหาดมีสรรพคุณเป็นยาแก้เส้นเอ็นพิการ (แก่น,แก่นเนื้อไม้)
- รากสดหรือแห้งนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้กระษัยในเส้นเอ็น (ราก)
- รากเป็นยาบำรุงและมีฤทธิ์บรรเทาการอุดตัน (ข้อมูลไม่ได้ระบุว่าบรรเทาอาการอุดตันอะไร) (ราก)