ต้นมะลิ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในแถบประเทศเอเชีย เช่น อินเดีย คาบสมุทรอาระเบีย[7] โดยจัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เป็นทรงพุ่ม มีใบแน่น มีความสูงประมาณ 5 ฟุต แตกกิ่งก้านสาขาออกรอบ ๆ ลำต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ (ในช่วงฤดูฝนเป็นวิธีการที่ดีที่สุด) และการตอนกิ่ง (เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดี) เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย และเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่ชอบแสงแดดจัด การให้น้ำมากเกินไปจะทำให้ออกดอกน้อยลง และการตัดแต่งใบภายหลังการออกดอกชุดใหญ่จะทำให้การออกดอกดีขึ้น (ทั้งจำนวนและขนาดของดอก)
ใบมะลิ ใบออกเรียงตรงข้าม เป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อยใบเดียว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปมนป้อม ปลายใบแหลม โคนใบมนสอบเข้าหากัน ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบมันเป็นสีเขียวแก่ ที่ท้องใบเห็นเส้นใบได้ชัดเจน เส้นใบมีขนาดใหญ่ มีประมาณ 4-6 คู่ ก้านใบมีขนาดสั้นมากและมีขน
ดอกมะลิ ออกดอกตามซอกใบและปลายกิ่ง ลักษณะของดอกมีทั้งดอกซ้อนและดอกไม่ซ้อน ดอกซ้อนเราจะเรียกว่า “มะลิซ้อน” ส่วนดอกที่ไม่ซ้อนจะเรียกว่า “มะลิลา” โดยทั้งสองชนิดจะเป็นดอกสีขาวและมีกลิ่นหอม ซึ่งดอกมะลิลาจะมีกลิ่นหอมมากกว่าดอกมะลิซ้อน[1] ขนาดของดอกเมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ดอกมะลิลาปลายแยกเป็น 5-8 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมกันเป็นหลอดยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร ดอกที่อยู่ตรงกลางจะบานก่อน แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยงเป็นหลอดสีเขียวอมสีเหลืองอ่อน ส่วนปลายแยกเป็นเส้น มีเกสรเพศผู้ 2 ก้านติดกับกลีบดอกในหลอดสีขาว และมักไม่ติดผล
ประโยชน์และสรรพคุณ
- ดอกมะลิมีรสหอมเย็น มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำให้ชื่นใจ จิตใจชุมชื่น แก้อาการอ่อนเพลีย ชูกำลัง (ดอก)
- ชาวโอรังอัสลี ในรัฐเประ ประเทศมาเลเซีย จะใช้รากนำไปต้มแล้วดื่มน้ำเป็นยาแก้เบาหวาน (ราก)
- หากมีอาการนอนไม่หลับ ให้ใช้รากแห้งประมาณ 1-1.5 กรัมนำมาฝนกับน้ำรับประทาน (ราก)
- ดอกสดนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกขมับ จะช่วยแก้อาการปวดศีรษะได้ (ดอกหรือจะใช้รากสดประมาณ 1-1.5 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ปวดศีรษะก็ได้ (ราก)
- ช่วยแก้เจ็บตา (ดอก)
- รากสดใช้ทำเป็นยาล้างตาแก้เยื่อตาอักเสบ (ราก)ใบและรากใช้ทำเป็นยาหยอดตา (ใบ, ราก) บ้างว่าใช้ดอกมะลิสดที่ล้างน้ำสะอาด นำมาต้มกับน้ำจนเดือดสักครู่ แล้วนำน้ำที่ได้มาใช้ล้างตาแก้ตาแดง เยื่อตาขาวอักเสบ (ดอก)
- ช่วยแก้อาการเจ็บหู (ดอกและใบ)
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้รากสดนำมาทุบให้แหลกคั่วกับเหล้าจนร้อน ใช้พอกบริเวณที่ปวด (ราก) หากปวดฟันผุ ให้ใช้รากมะลิตากแห้งนำมาบดให้เป็นผง ผสมกับไข่แดงที่ต้มสุกแล้วจนได้ยาที่เหนียวข้น ใช้ใส่ในรูฟันผุ (ราก)
- ดอกและใบมีรสเผ็ดชุ่ม เป็นยาเย็น ช่วยดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ใช้เป็นยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับเหงื่อขับความชื้น แก้ไข้หวัดแดด (ดอกและใบ)รากใช้ฝนกับน้ำเป็นยาแก้ร้อนใน (ราก)
- ใช้ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไข้ (ใบ)
- ตำรับยาแก้หวัดแดด มีไข้ ให้ใช้ดอกมะลิแห้ง 3 กรัม, ใบชาเขียว3 กรัม, เมล็ดเฉาก๊วย 9 กรัมนำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน (ดอก)
- ดอกสดนำมาตำใส่พิมเสน ใช้สุมหัวเด็กแก้ซาง แก้หวัด แก้ตัวร้อน (ดอก)
- ช่วยรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน ด้วยการใช้รากสดประมาณ 1-1.5 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)
- ดอกแก่ใช้เข้ายาหอมเป็นยาแก้หืด (ดอก)
- ช่วยแก้หอบหืด หลอดลมอักเสบ ด้วยการใช้รากสด 1-1.5 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน (ราก)
- รากใช้เป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก (ราก)
- ดอกสดนำมาตำให้ละเอียดใช้พอกหรือเช็ดบริเวณเต้านมเพื่อให้หยุดการหลั่งของน้ำนมได้ (ดอก)
- ใบสดประมาณ 3-6 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืดแน่น (ใบ)หรือจะใช้ดอกมะลิแห้ง 3 กรัม, ใบชาเขียว 3 กรัม, เมล็ดเฉาก๊วย 9 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย (ดอก)
- ช่วยแก้อาการเสียดท้อง (ราก)
- ใช้ดอกสดหรือดอกแห้งประมาณ 5-3 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้โรคบิด แก้อาการปวดท้อง (ดอก, ดอกและใบ)
- ชาวโอรังอัสลีในรัฐเประ ประเทศมาเลเซีย จะนำใบอ่อนใสแช่ในน้ำเย็น ใช้ดื่มแก้นิ่วในถุงน้ำดี (ใบ)
- ช่วยบำรุงครรภ์รักษา (ดอก)
- ช่วยขับประจำเดือนของสตรี (ราก)
- ดอกสดนำมาตำใช้เป็นยาทารักษาแผลเรื้อรัง ทาฝีหนอง ผิวหนังผื่นคัน เยื่อตาอักเสบ และแก้ปวดหูชั้นกลาง (ดอก)[1],[4]ช่วยแก้ฝีหนอง (ดอกและใบ)
- ใบสดนำมาตำใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง แผลโรคผิวหนังเรื้อรัง แก้ฟกช้ำ และบาดแผล (ใบ)[1]หรือใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำมันมะพร้าวใหม่ ๆ นำไปลนไฟ ใช้ทารักษาแผล ฝีพุพอง (ใบ)
- รากมีรสเผ็ดขม เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ใช้เป็นยาชา ยาแก้ปวด ให้ใช้รากสดประมาณ 1-1.5 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้ปวด (ราก)
- ใช้แก้กระดูกร้าว ฟกช้ำ ให้ใช้รากแห้ง 5 กรัม นำมาฝนกับเหล้ารับประทาน (ราก)[3]หรือจะใช้รากสดตำพอกแก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอกเนื่องจากการหกล้ม (ราก)
- ใบช่วยขับน้ำนมของสตรี (ใบ)
- ตำรายาไทยจะใช้ดอกมะลิแห้งปรุงเป็นยาหอม โดยจัดให้ดอกมะลิอยู่ในพิกัดเกสรทั้ง 5, พิกัดเกสรทั้ง 7, พิกัดเกสรทั้ง 9 เป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณแก้ไข้ ช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่น (ดอก)
- นอกจากนี้ยังมีการนำดอกมะลิผสมเข้ายาหอมที่มีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำให้จิตใจชุ่มชื่น แก้ลมวิงเวียน เช่น ในตำรับยาหอมเทพจิต ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมนวโกฐ และยาหอมอินทจักร์ ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นดอกมะลิ และยังใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาแก้ไข้มิรู้จักสติสมปฤดี ยาประสะจันทน์แดง ยามหานิลแท่งทอง เป็นต้น (ดอก)