ต้นมะคำดีควาย (ชนิด Sapindus trifoliatus L.) จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง เรือนยอดของต้นหนาทึบ ลำต้นมักคดงอ มีความสูงของต้นได้ประมาณ 10-30 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน แตกเป็นร่องลึกตามแนวยาว ยอดอ่อนและกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาล พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้งในทุกภาคของประเทศไทย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
ใบมะคำดีควาย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับกัน ในช่อหนึ่งจะมีใบย่อยอยู่ประมาณ 2-4 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบมน โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-14 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเป็นสีเขียว
ดอกมะคำดีควาย ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ โดยจะออกบริเวณปลายกิ่ง ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ลักษณะของดอกเป็นดอกเล็กสีขาวนวลหรือเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ในหนึ่งดอกจะมีกลีบรองดอกขนาดเล็กประมาณ 4 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน และมีกลีบดอกประมาณ 5 กลีบ กลีบข้างนอกมีขนสั้น ๆ สีน้ำตาลปนแดงขึ้นอยู่ประปราย ส่วนบริเวณกลางดอกมีเกสรเพศผู้อยู่ 10 ก้าน
ผลมะคำดีควาย ผลออกรวมกันเป็นพวง ผลย่อยมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ผลสดสีเขียว ผิวผลเรียบหรืออาจมีรอยย่นที่ผลบ้าง เปลือกผลเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ผลมีพู 3 พู และมักจะฝ่อไป 1-2 พู เนื้อในผลมีลักษณะเหนียว ใส เป็นสีน้ำตาล และมีรสหวาน ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมสีดำเป็นมัน เป็นเมล็ดที่มีเปลือกหุ้มแข็ง
ประโยชน์และสรรพคุณ
- เปลือกต้นมีรสเฝื่อนขม นำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้กระษัย (เปลือกต้น)
- ผลใช้รักษาชันนะตุบนศีรษะ แก้เชื้อรา แก้รังคา (โรคผิวหนังพุพองบนศีรษะเด็ก) ด้วยการใช้ผลประมาณ 4-5 ผล นำมาแกะเอาแต่เนื้อ นำไปต้มกับน้ำประมาณ 1 ถ้วย แล้วใช้น้ำทาบนศีรษะที่เป็นชันนะตุวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น จนกว่าจะหาย หรือจะใช้เนื้อผล 1 ผล นำมาตีกับน้ำจนเกิดเป็นฟอง แล้วใช้สระผมวันละ 1 ครั้ง จนกว่าจะหาย (บางข้อมูลระบุว่าสามารถช่วยป้องกันผมร่วง ผมหงอกก่อนวัย แก้อาการคันหนังศีรษะ ช่วยลดความมันบนหนังศีรษะ บำรุงรากผมให้แข็งแรง ช่วยขจัดตัวเหา ไข่เหา หรือนำไปหมักเอาน้ำทาแก้โรคสะเก็ดเงิน) แต่ต้องระวังอย่าให้เข้าตา เพราะจะทำให้แสบตา ตาอักเสบได้ และไม่ควรทิ้งไว้นานจนเกินไป (ผล)
- ผลใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นในตำรับยา ใช้รักษาโรคตัวร้อน นอนไม่หลับ นอนสะดุ้ง ผวา แก้สลบ แก้สารพัดพิษ สารพัดกาฬ แก้ไข้สารพัดไข้ทั้งปวง แก้ไข้จับเซื่องซึม ร้อนในกระหายน้ำ แก้ปากเปื่อย แก้ฝีเกลื้อน แก้พิษ แก้หัด สุกใส (ผล)
- ใบนำมาปรุงเป็นยาแก้พิษกาฬ ดับพิษกาฬ ช่วยแก้ทุราวสา (ใบ)
- ใช้ผลแห้งนำไปคั่วให้เกรียม ใช้ปรุงเป็นยาดับพิษทุกชนิด แก้พิษตานซาง แก้กาฬ แก้กาฬภายใน แก้ไข้เลือดออก แก้ไข้เซื่องซึม หรือใช้ร่วมกับเมล็ดมะกอกสุมไฟ ใช้กินแก้หอบอันเนื่องมาจากปอดชื้นปอดบวม แก้ไข้ แก้จุดกาฬ แก้เสลด สุมฝีที่เปื่อยพัง (ผล)
- เปลือกต้นนำมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไข้ แก้พิษไข้ แก้พิษร้อน (เปลือกต้น)
- ผลนำมาสุมให้เป็นถ่าน แล้วปรุงเป็นยาดับพิษร้อนในร่างกาย (ผล)
- ผลนำมาสุมให้เป็นถ่าน ทำเป็นยารับประทานแก้ร้อนในกระหายน้ำ (ผล)
- ผลนำมาต้มเอาฟองใช้สุมหัวเด็กเพื่อแก้หวัด คัดจมูกได้ (ผล)
- ช่วยแก้หืดหอบ (ผล)[1]รากช่วยแก้หืด แก้ไอ (ราก)
- ต้นช่วยแก้ลมคลื่นเหียน (ต้น)
- รากช่วยรักษามองคร่อ (โรคหลอดลมโป่งพองที่มีเสมหะแห้งอยู่ในช่องหลอดลม ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง) (ราก)
- เมล็ด รับประทานแล้วจะทำให้ท้องเสีย (กะเหรี่ยงเชียงใหม่) (เมล็ด)
- ใบอ่อนนำมาต้มกับน้ำดื่มรับประทานแก้อาการท้องผูก (ใบอ่อน)ชาวลั้วะจะใช้ยอดอ่อนนำมานึ่งรับประทานเป็นยาแก้อาการถ่ายไม่ออก แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (ยอดอ่อน)
- รากใช้ผสมกับสมุนไพรอื่นในตำรับยา ใช้เป็นยาแก้ฝีในท้อง (ราก)
- ชาวลั้วะจะนำเมล็ดมารับประทานทั้งเมล็ด มีฤทธิ์เป็นยาถ่ายพยาธิ (เมล็ด)
- รากมีรสเฝื่อนขม ช่วยแก้ริดสีดวง (ราก)
- ผลช่วยบำรุงน้ำดี (ผล)
- ช่วยรักษาผิวหนังพุพอง น้ำเหลืองเสีย ด้วยการใช้ผลประมาณ 10-15 ผล นำมาต้มกับน้ำพอประมาณ แล้วใช้เฉพาะน้ำนำมาชะล้างหรือแช่บริเวณที่เป็นแผลประมาณ 5 นาที โดยให้ทำทั้งเช้าและเย็น (ผล)
- ใช้เปลือกต้นผสมกับสมุนไพรอื่นในตำรับยา ใช้เป็นยาแก้ฝีอักเสบ แก้ฝีหัวคว่ำ (เปลือกต้น)
- เมล็ดมีรสเฝื่อนเมา ใช้ได้ทั้งสดและแห้ง นำมาตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาพอกหรือเอามาละลายกับน้ำล้างแผล ช่วยแก้โรคผิวหนังได้ (เมล็ด)ส่วนผลก็ช่วยแก้โรคผิวหนังเช่นกัน (ผล)
- ดอกมีรสเฝื่อนเมา เป็นยาแก้พิษ แก้เม็ดผดผื่นคัน (ดอก)
- ผลนำมาทุบให้แตกแล้วนำไปแช่กับน้ำ นำมาใช้ล้างหน้าเพื่อรักษาผิว